วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556


เพศสัมพันธ์ กับ เอดส์ (AIDS)


ได้มีรายงานในวงการแพทย์เป็นครั้งแรกเกี่ยวกับโรคเอดส์ ในเดือนมิถุนายน 2524 ในประเทศสหรัฐอเมริกาว่าในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2523 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2524 พบโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมซิสติสคารินิไอ ในชายรักร่วมเพศ 5 คน ในโรงพยาบาล 3 แห่ง ของเมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งโรคนี้พบได้น้อยมากในคนที่สุขภาพดี ชายทั้ง 5 คนนี้เคยเป็นคนแข็งแรงดีมาก่อน ไม่มีประวัติรับยากดภูมิคุ้มกันและจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า ภูมิคุ้มกันชนิดเซลเสียไปด้วย
          การศึกษาย้อนหลังพบว่าโรคเอดส์ เริ่มปรากฏในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2521 แล้ว แต่เพิ่งจะมารายงานในปี 2524 และถ้าศึกษาซีรั่มที่เก็บย้อนหลังไปนานๆ จะพบว่าในประเทศอัฟริกาเองก็พบหลักฐานของการติดเชื้อโรคเอดส์ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2513 (ประพันธ์, 2532) และในขณะที่รายงานโรค เอดส์เป็นครั้งแรก ในสหรัฐอเมริกานั้น ประเทศอื่น ๆ ในแถบอื่น ก็มีผู้ป่วยเช่นเดียวกัน (วิวัฒน์, 2532) เช่น ในทวีปยุโรป ภายหลังที่มีข่าวระบาดของโรคในสหรัฐอเมริกา จึงได้มีการตื่นตัวเฝ้าระวังโรค โดยการศึกษาย้อนหลังในประเทศฝรั่งเศส พบผู้ป่วยเอดส์ รายแรกในปี 2522 ส่วนในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั้น พบผู้ป่วย เอดส์ รายแรกในปี 2525 ในประเทศญี่ปุ่นรายงานผู้ป่วยเอดส์ รายแรกเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2528 สำหรับในประเทศไทยเริ่มมีการรายงานผู้ป่วย
          เอดส์ครั้งแรกจากโรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2527 นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลา 2 ปี จึงทราบว่าโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส  และอีก 2 ปีต่อมา คือในปี 2528 จึงสามารถคิดค้นวิธีการตรวจหาแอนติบอดี้ต่อเชื้อไวรัสโดยวิธีอีไลซ่า
  การระบาดของโรคเอดส์ ที่แพร่กระจายไปอย่างมากมายในปัจจุบันนั้น สามารถแยกออกเป็นการระบาด 3 ครั้งติดต่อกัน คือ
          1. การระบาดของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งไม่มีใครทราบว่าจะเริ่มระบาดเมื่อไร และจากที่ใดแต่ที่แน่ๆ คือ เชื้อไวรัสได้แพร่ไปหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ประมาณปี 2518 และปัจจุบันนี้อาจจะแพร่ไปทุกประเทศแล้ว
          2. การระบาดของโรคเอดส์ ประมาณปี 2520-2521 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการแสดงออกทางอาการเจ็บป่วยของผู้ติดเชื้อ หลังจากมีระยะฟักตัวช่วงระยะเวลาหนึ่ง และในช่วงปี 2525-2530 การระบาดเริ่มเป็นแบบกระจายทั่ว (Pandemic) กล่าวคือระบาดไปหลายๆ ประเทศพร้อมกัน และกระจายไปหลาย ๆ ประเทศพร้อมกัน และกระจายไปในทุกทวีป
          3. การระบาดของผลกระทบที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการระบาดของโรค เอดส์ ได้แก่ ด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง การระบาดนี้แพร่ไปได้อย่างรวดเร็ว และมีผลกระทบแม้ในประเทศที่ไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อหรือรายงานผู้ป่วย เอดส์เลย ผลกระทบที่สำคัญได้แก่ การไล่ผู้ติดเชื้อออกจากงาน การไม่ยอมรับสมาชิกที่เป็นผู้ป่วย หรือผู้ติดเชื้อเข้าในครอบครัวหรือชุมชน การไม่ยอมรับเด็กที่ติดเชื้อเข้าศึกษาในโรงเรียน ตลอดจนการออกฎหมายให้มีการตรวจ เอดส์ ก่อนเข้าประเทศ เพื่อสกัดกั้นคนจากประเทศอื่น ที่อาจติดเชื้อ เป็นต้น
การระบาดของโรคเอดส์ แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ
          การระบาดรูปแบบที่ 1 เป็นลักษณะการระบาดในประเทศอุตสาหกรรมที่มีรายงานผู้ป่วย เอดส์เป็นจำนวนมาก ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา แม็กซิโก แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ส่วนหนึ่งของลาตินอเมริกา และประเทศแถบยุโรปตะวันตก ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชายรักร่วมเพศ (gay) หรือชายรักสองเพศ (bisexual) และติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด อัตราส่วนของผู้ป่วยชายต่อหญิงเท่ากับ 10:1 ถึง 5:1
          การระบาดรูปแบบที่ 2 เป็นการระบาดที่พบในอัฟริกากลาง อัฟริกาตะวันออก และอัฟริกาใต้ และพบในบางส่วนของลาตินอเมริกา การระบาดของโรคเอดส์ จะเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์แบบรักต่างเพศเป็นส่วนใหญ่ อัตราส่วนผู้ป่วยชายต่อหญิง ประมาณ 1:1
          การระบาดรูปแบบที่ 3 เป็นการระบาดที่พบใน ยุโรปตะวันออก อัฟริกาเหนือ ประเทศแถบตะวันออกกลาง เอเชีย และประเทศส่วนใหญ่แถบแปซิฟิก รวมถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์จำนวนผู้ป่วยที่รายงานมีจำนวนน้อย ลักษณะผู้ป่วยที่รายงานมีทั้ง 2 แบบ คือ ในรูปแบบของการระบาดที่ 1 และที่ 2
          การระบาดในรูปแบบที่ 1 และ 2 นั้นเริ่มในปลายทศวรรษ 1970 ส่วนการแพร่กระจายเชื้อในรูปแบบที่ 3 นั้น เริ่มในต้นหรือกลางทศวรรษ 1980
การระบาดของโรคเอดส์ในประเทศไทย แบ่งได้เป็น 5 ระยะ
          ระยะที่ 1 ในช่วงทศวรรษ 2520 เป็นระยะที่โรคเอดส์คงถูกนำเข้ามาในประเทศ การระบาดของเชื้อเอดส์คงจำกัดในกลุ่มคนจำนวนน้อย และมีพฤติกรรมพิเศษ เช่น ในกลุ่มชายรักร่วมเพศ เริ่มตรวจพบผู้ป่วยเอดส์บ้าง แต่เกือบทั้งหมดเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ
          ระยะที่ 2 การระบาดของโรค เอดส์ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2531 พบในกลุ่มผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดโดยอัตราความชุก และการติดเชื้อ เอดส์ ในกลุ่มผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากต่ำกว่าร้อยละ 1 ในปลายปี พ.ศ.2530 เป็นสูงกว่าร้อยละ 40 ในช่วงปลายปี พ.ศ.2531 มีการคาดคะเนว่าการระบาดครั้งนี้ อาจมีความสัมพันธ์กับการปล่อยผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดจำนวนมาก ออกจากเรือนจำในช่วงปลายปี พ.ศ.2530
          ระยะที่ 3 การระบาดของโรค เอดส์ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2532 ในกลุ่มหญิงบริการทางเพศเชื่อว่าการติดเชื้อเอดส์ ในกลุ่มนี้ น่าจะเกิดจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดรักต่างเพศ จากการเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อ เอดส์เฉพาะพื้นที่ในเดือนมิถุนายน 2532 มีการตรวจพบอัตราความชุกของหญิงบริการทางเพศสูงถึงร้อยละ 44 การสำรวจต่อมาในกลุ่มนี้ คงพบแนวโน้มของการติดเชื้อเอดส์สูงขึ้นเรื่อยๆ และตรวจพบบนทุก ๆ ภาคตามมาในปี พ.ศ.2533
          ระยะที่ 4 การระบาดของโรค เอดส์ในกลุ่มชายที่เที่ยวหญิงบริการ พ.ศ.2533 คาดว่าจะมีประชาชนที่เป็นชายที่อยู่ในวัยที่จะเที่ยวได้ ประมาณ 13-25 ล้านคน ในจำนวนนี้อย่างน้อยร้อยละ 50 เคยเที่ยวหญิงบริการ จากข้อมูลการสำรวจอัตราความชุกของการติดเชื้อ เอดส์ในกลุ่มชายที่มาขอตรวจกามโรคสูงถึงร้อยละ 4.2 ซึ่งเป็นตัวชี้วัดได้อย่างดีการแพร่ระบาดในกลุ่มนี้จะยังคงดำเนินควบคู่ไปกับกลุ่มหญิงบริการ หากค่านิยมและพฤติกรรมการเที่ยวหญิงบริการยังไม่เปลี่ยนแปลง
          ระยะที่ 5 เป็นระยะที่คาดว่าอีก 5-20 ปี จะพบการระบาดของเชื้อเอดส์ในหญิงทั่วไป คือ หญิงที่กำลังจะแต่งงานหรือหญิงที่เป็นแม่บ้านและลูกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อ เอดส์ หากไม่มีการป้องกันที่ดี
 
โรคเอดส์ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชไอวี มีผลทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมลง ร่างกายจึงติดเชื้อฉวยโอกาสได้ง่าย และเป็นมะเร็งที่ปกติไม่พบในคนที่อายุน้อยกว่า 60 ปี นอกจากผลกระทบทางด้านร่างกายแล้ว ยังส่งผลกระทบทางด้านจิตสังคม และมักจะรุนแรงกว่าโรคอื่น ๆ กล่าวคือ เกิดขึ้นทุกระยะตั้งแต่ก่อนทราบผลการตรวจ ระยะทราบผลการวินิจฉัย ระยะได้รับการรักษา ระยะเกิดโรคแทรกซ้อน หรือติดเชื้อซ้ำ และระยะใกล้ตาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกังวล กลัวตาย กลัวสังคมรังเกียจ กลัวถูกทอดทิ้ง กลัวการถูกแยก บางคนอาจทุกข์ทรมานมากจากอาการทางกาย และจิตสังคม จึงคิดฆ่าตัวตาย ผลกระทบของโรคเอดส์ มิใช่มีผลเฉพาะตัวผู้ป่วยเท่านั้น ยังมีผลกระทบต่อครอบครัว และบุคคลใกล้ชิด ต่อสังคม และประเทศชาติอีกด้วย
          ในการประเมินผลกระทบของโรคเอดส์ต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ และครอบครัว ประกอบด้วย 11 แบบแผน ในแต่ละแบบแผนจะแสดงออกถึงพฤติกรรมของคนทั้งด้านกาย จิตสังคมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนทั้งคนดังนี้
          แบบแผนที่ 1 การรับรู้สุขภาพและการดูแลสุขภาพ เป็นแบบแผนที่มีขอบเขตครอบคลุม เกี่ยวกับการรับรู้ภาวะสุขภาพของตนเอง ตลอดจนการดูแลสุขภาพตนเอง และผู้ที่ตนรับผิดชอบ ซึ่งประกอบด้วย พฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและความเจ็บป่วย การดูแลรักษา รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพ เนื่องจากโรคเอดส์เป็นโรคที่ไม่หายขาด และเป็นโรคที่กระทบอวัยวะของร่างกายหลายระบบ โดยเฉพาะในระยะที่มีการติดเชื้อของสมอง มีการอักเสบของจอตาจากเชื้อชัยโตเมกาโล ไวรัส และระยะเอดส์ดีเม็นเซีย ทำให้ผู้ป่วยซึม สับสน ชัก หมดสติ และการมองเห็นลดลง จนถึงตาบอด ซึ่งส่งผลกระทบต่อแบบแผนการรับรู้สุขภาพ และการดูแลสุขภาพ โดยทำให้ผู้ป่วยมีข้อจำกัด ในการรับรู้สุขภาพ และเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย นอกจากนี้ผู้ติดเชื้อในระยะแรกที่ทราบว่า ตนเองติดเชื้อเอดส์มักจะวิตกกังวล ซึมเศร้า ท้อแท้ ไม่ยอมรับ ทำให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพของตนเองโดยทั่ว ๆ ไปลดลง การรับรู้ก็ลดลง รวมทั้งโรคเอดส์เป็นโรคที่เพิ่งค้นพบในระยะ 10 ปี มานี้ ผู้ป่วยจึงไม่มีความรู้ในการดูแลตนเอง ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ จึงมีความสำคัญยิ่ง
          แบบแผนที่ 2 อาหารและการเผาผลาญสารอาหาร แบบแผนนี้มีขอบเขตครอบคลุมเกี่ยวกับอาหาร การเผาผลาญสารอาหาร ภาวะโภชนาการ น้ำ และ อิเล็กโตรลัยต์ การเจริญเติบโต และระบบภูมิคุ้มกัน ผลกระทบต่อแบบแผนนี้ได้แก่ แบบแผนในการรับประทานอาหารเปลี่ยนไป โดยมักจะมีอาการเบื่ออาหาร รับประทานอาหารไม่ได้ ทั้งจากภาวะของโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อม ทำให้ติดเชื้อราในปากและหลอดอาหาร เป็นเริมบริเวณริมฝีปาก และในช่องปาก เป็นผลในช่องปาก เป็นมะเร็งแคโปสิ ซาร์โคมาบริเวณลิ้น เยื่อบุในช่องปาก และหลอดอาหาร ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปาก กลืนลำบาก ร่วมกับความเครียดที่ต้องเผชิญกับโรค และปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง เบื่ออาหาร จนถึงขั้นรับประทานอาหารไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะขาดอาหาร ซึ่งสามารถสรุปปัจจัยที่มีผลทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ขาดสารอาหารได้ดังตารางที่ 7 และจากการที่โรคเอดส์เป็นโรคที่ไม่หายขาด มีการกำเริบเป็นครั้งคราว ต้องเข้าโรงพยาบาลซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาจมีผลทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์รู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ ความอยากอาหารลดลง รับประทานอาหารได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย การดูดซึม และการย่อยลดลง จากการถูกจำกัดการเคลื่อนไหว จึงมักมีภาวะทุพโภชนาการร่วมด้วยเสมอ ทำให้เกิดภาวะเสียสมดุลของน้ำ และอิเล็กโตรลัยต์ เนื่องจากภาวะอุจจาระร่วงเรื้อรัง อาการคลื่นไส้อาเจียน และการรับประทานอาหารได้น้อย ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ โซเดียมในเลือดต่ำ โปแตสเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งภาวะโปแตสเซียมในเลือดต่ำ ส่งผลให้กล้ามเนื้อในทางเดินอาหารอ่อนแรง ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน และท้องอืดได้ ส่งผลให้น้ำหนักลด และมีอาการผอมแห้ง ในทารกที่ป่วยเป็นโรคเอดส์ จะพบการเจริญเติบโตและพัฒนาการช้า นอกจากนี้ยังมีผลทำให้ภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อม เนื่องจากเชื้อไวรัสเอชไอวีทำลาย ซีดี 4 ทำให้เกิดมะเร็ง และติดเชื้อฉวยโอกาสทั่วร่างกาย

      
   แบบแผนที่ 3 การขับถ่าย มีขอบเขตครอบคลุมถึง การขับถ่ายของเสียทุกประเภทออกจากร่างกาย โรคเอดส์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแบบแผนการขับถ่ายเปลี่ยนไป โดยจะทำให้เกิดอุจจาระร่วงเรื้อรัง เนื่องจากมีการติดเชื้อฉวยโอกาส และเชื้อทั่วไป ในบางรายที่มีการติดเชื้อรุนแรง อาจมีอุจจาระเป็นมูกเลือด อุจจาระเป็นน้ำได้ การที่มีลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดร่วมกับเป็นตะคริวที่ท้องนั้น เรียกว่า "Gay Bowel Syndrome" นอกจากนี้ยังพบการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของอาการท้องผูก ซึ่งเกิดจากการอุดตันของลำไส้จากมะเร็งแคโปสิซาร์โคมา หรือมะเร็งตัวอื่น ร่วมกับการได้รับน้ำและอาหารในปริมาณน้อย
          แบบแผนที่ 4 กิจกรรมและการออกกำลังกาย มีขอบเขตครอบคลุมถึงการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน การดูแลที่อยู่อาศัย การออกกำลังกาย กีฬา และนันทนาการ การพัฒนาการ และการทำงานของระบบโครงสร้างและกล้ามเนื้อ ระบบหายใจ ระบบหัวใจ และไหลเวียน ผลกระทบต่อแบบแผนนี้ ได้แก่ ความสามารถในการเคลื่อนไหว และทำกิจกรรมลดลง เนื่องจากโรคเอดส์ทำให้กิดภาวะทุพโภชนาการ ภาวะโปแตสเซียมในเลือดต่ำ ภาวะขาดน้ำ และโซเดียม ไข้ ติดเชื้อทั่วไปในร่างกายโดยเฉพาะการติดเชื้อในสมอง และทางเดินหายใจ ภาวะเอดส์ดีเม็นเชีย ภาวะอุจจาระร่วงเรื้อรังร่วมกับอาการผอมแห้ง และเลือดออกง่าย ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย อ่อนล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรงจนถึงอัมพาต และหมดสติได้ นอกจากนี้ยังส่งผลให้การระบายอากาศ และการแลกเปลี่ยนก๊าซลดลง เนื่องจากมีการอุดกั้นของทางเดินหายใจจากการติดเชื้อฉวยโอกาส และมะเร็งแคโปสิ ซาร์โคมา ทำให้กล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรง อาจเกิดภาวะหายใจวายจากการติดเชื้อที่รุนแรง และกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาตจากภาวะโปแตสเซียมในเลือดต่ำ ยังทำให้เกิดอาการไอแห้ง ๆ เป็นเวลานาน หายใจหอบ หอบเหนื่อยเมื่อออกแรง หายใจตื้น อัตราการหายใจลดลง ไอเป็นเลือด อาจทำให้เกิดภาวะช็อคจากการติดเชื้อในกระแสเลือดที่รุนแรง ทำให้ความดันโลหิตลดลงหัวใจเต้นเร็วขึ้น การไหลเวียนของเลือดบริเวณผิวหนังลดลง อาจเริ่มเขียวคล้ำเป็นแห่ง ๆ อาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า เนื่องจากภาวะโปแตสเซียมในเลือดต่ำ
          แบบแผนที่ 5 การพักผ่อนนอนหลับ เป็นแบบแผนที่เกี่ยวข้องกับแบบแผนการนอน กระบวนการนอนหลับ และการผ่อนคลาย โรคเอดส์ส่งผลกระทบต่อแบบแผนนี้ โดยทำให้นอนไม่หลับ หรือพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ เนื่องจากภาวะเครียดและแรงกดดันด้านจิตใจ นอกจากสาเหตุทางจิตแล้ว ยังพบสาเหตุจากทางกายได้ เช่น อาการหอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจ อาการอุจจาระร่วงเรื้อรัง อาการปวด และเจ็บ เป็นต้น ญาติผู้ป่วยก็อาจได้รับผลกระทบต่อแบบแผนการนอนเช่นเดียวกับผู้ป่วย เนื่องจากวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคที่ผู้ป่วยเป็น เป็นห่วงกลัวผู้ป่วยจะตาย หรือต้องดูแลผู้ป่วยอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้ป่วยเอดส์ที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย หรือผู้ป่วยเอดส์ระยะสุดท้ายที่นอนรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งญาติต้องดูแลผู้ป่วยทั้งหมด จะทำให้การพักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอ
          แบบแผนที่ 6 สติปัญญาและการรับรู้ เป็นแบบแผนที่เกี่ยวข้องกับการรับความรู้สึกทางประสาทสัมผัส และการตอบสนอง ความสามารถทางสติปัญญาและความรู้ การพัฒนาการทางสติปัญญา ผลกระทบต่อแบบแผนนี้ ได้แก่ การรับความรู้สึกทางประสาทสัมผัส และการตอบสนองเปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดอาการปวด เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง เจ็บในช่องปาก หลอดอาหาร และทวารหนัก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อในสมองและทางเดินอาหาร ทำให้ไม่สุขสบาย ทำให้ตาพร่ามัว จนถึงตาบอดได้ เนื่องจากจอตาอักเสบจากการติดเชื้อซัยโตเมกาโลไวรัสของระบบประสาท นอกจากนี้อาจมีการสูญเสียความจำ พูดคุยไม่รู้เรื่อง ซึม สับสน และหมดสติจากการติดเชื้อฉวยโอกาส และภาวะเอดส์ดีเม็นเซีย หรือสมองอับเสบจากเชื้อเอชไอวี โดยมีอาการทางคลีนิคดังนี้ อาการเริ่มแรกมักจะสูญเสียความทรงจำ และความสนใจ เช่นจำชื่อคนไม่ได้ จำวันไม่ได้ เข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ยาก พูดโต้ตอบช้า และขาดความสนใจต่อสังคม แยกตัวจากสังคม อาจพบอาการทางจิตจากออร์แกนนิค (organic psychosis) คือ อาการกระสับกระส่าย พฤติกรรมไม่เหมาะสม หรืออาการประสาทหลอน อาการระยะหลังจะมีการสูญเสียทางความคิด และการเคลื่อนไหว เช่น ความคิดสับสน ไม่พูด อาการจ้องถลึงตา การเคลื่อนไหว และการเดินผิดปกติ ขาเกร็ง ขาอ่อนแรง จนถึงขั้นเป็นอัมพาต มือสั่น กล้ามเนื้อสั่น และกระตุก หรือชัก กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ตาบอด เพ้อคลั่ง และหมดสติ
          แบบแผนที่ 7 การรับรู้ตนเอง และอัตมโนทัศน์ เป็นแบบแผนที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความเข้าใจ ความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อตนเอง ได้แก่ ภาพลักษณ์ อัตมโนทัศน์ และความภูมิใจในตนเอง ผลกระทบต่อแบบแผนนี้ได้แก่ การสูญเสียภาพลักษณ์ โดยจะพบในผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ปรากฎอาการ และผู้ป่วยเอดส์ ทั้งนี้เนื่องจากอาการผอมแห้ง น้ำหนักลด ภาวะทุพโภชนาการ ภาวะขาดน้ำ มีการติดเชื้อบ่อย ๆ เช่น ติดเชื้อเฮอาร์ปีส ซิมเพล็กซ์บริเวณริมฝีปากหรือทวารหนัก ติดเชื้อทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอุจจาระร่วงเรื้อรัง ติดเชื้อระบบประสาท ทำให้เสียการทรงตัว ตาบอด หรือเป็นอัมพาต เป็นต้น ภาวะผมร่วงในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด รวมถึงการนอนที่ไม่เพียงพอ ไม่สุขสบาย และภาวะเครียดจากโรค ทำให้ผู้ป่วยซึ่งเคยมีสุขภาพแข็งแรงกลายเป็นผู้ที่อ่อนแอ ผอมแห้ง ไม่มีแรง ทำกิจกรรมได้ลดลงและมีภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้ยังมีผลต่ออัตมโนทัศน์ในทางลบ รู้สึกตนเองผิดและอับอายที่เป็นโรคเอดส์ เนื่องจากสังคมประนามว่าเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมไม่ดี เช่น พฤติกรรมสำส่อน เพศสัมพันธุ์แบบรักร่วมเพศ หรือติดตาเสพติด การถูกปฎิเสธ และรังเกียจจากคู่สมรส หรือครอบครัว หรือเพื่อน หรือบุคลากรในทีมสุขภาพ และผู้คนในสังคม ผู้ป่วยยังรู้สึกสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง และขาดความภูมิใจนตนเองได้ จากสมรรถภาพทางร่างกายที่ลดลงหรือเปลี่ยนไป ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ ต้องพึ่งพาผู้อื่น เป็นภาระของครอบครัวและสังคม เนื่องจากไม่สามารถดูแลตนเองได้ รวมทั้งการตกงานจากสังคมรังเกียจ ทำให้ขาดรายได้จึงต้องพึ่งพาครอบครัวทั้งหมด ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียคุณค่าและศักดิ์ศรี รู้สึกท้อถอย ไร้พลัง (powerlessness) ในการต่อสู้กับชีวิต ร่วมกับปัจจุบันนี้ยังไม่มียาที่รักษาโรคเอดส์ให้หายขาดได้
          แบบแผนที่ 8 บทบาทและสัมพันธภาพ เป็นแบบแผนที่เกี่ยวข้องกับสัมพันธภาพการสื่อสาร บทบาท ตลอดจนพัฒนาการทางด้านสังคม ผลกระทบต่อแบบแผนนี้ได้แก่ การแยกตัวจากสังคม ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัว และสังคม ดังนี้ คือ จากการที่ผู้ป่วยสูญเสียภาพลักษณ์ ทำให้ไม่อยากเข้าสังคม จากการที่ไม่มีแรงออกไปพบปะผู้คน กลัวผู้อื่นรู้ว่าตนเป็นเอดส์ จากการที่ครอบครัวแสดงความรังเกียจ และปฏิเสธ หรือเพื่อนบ้าน และสังคมแสดงความรังเกียจเพราะกลัวติดโรค นายจ้างบางคนไล่ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการออกจากงาน เนื่องจากกลัวนำเชื้อไปแพร่ ทำให้ต้องตกงานดังเช่นกรณีของคุณฉะอ้อน เสือสุ่ม ซึ่งเป็นผู้ป่วยเอดส์ที่ต้องประสบกับการถูกออกจากงาน ถูกเพื่อนบ้านรังเกียจ เคยถูกไล่ออกจากบ้านเช่าถึง 32 ครั้ง (วิวัฒน์, 2534) การหางานใหม่ก็ยาก เพราะระเบียบบริษัทส่วนใหญ่ จะระบุให้ตรวจเลือดหาแอนติบอดี้ต่อเชื้อเอชไอวีก่อน อีกทั้งผลต่อสัมพันธภาพในครอบครัว ครอบครัวที่ผู้ป่วยไม่ปิดบังก็เสี่ยงต่อการแสดงความรังเกียจ และปฏิเสธ ส่วนในครอบครัวที่ผู้ป่วยปิดบัง ตัวผู้ป่วยต้องป้องกันตนเองไม่ให้แพร่เชื้อแก่คู่สมรส โดยขณะมีเพศสัมพันธ์ก็ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ซึ่งปกติไม่เคยใช้ ทำให้เกิดความระแงได้ ครอบครัวใดมีการติดเชื้อเอชไอวีทั้งพ่อและแม่ โอกาสที่ลูกจะกำพร้าทั้งพ่อและแม่มีได้สูง เนื่องจากผู้ป่วยเอดส์มักเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร และยังเสี่ยงต่อการเป็นเอดส์ทั้งครอบครัวจากสามีนำเชื้อมาแพร่ให้กับภรรยาทางเพศสัมพันธ์ แล้วแม่ที่มีเชื้อก็สามารถแพร่เชื้อไปยังลูกในครรภ์ได้ ประมาณร้อยละ 30 - 50 นอกจากนี้ยังทำให้สมาชิกในครอบครัวต้องเปลี่ยนบทบาท เช่น ภรรยาต้องเป็นผู้นำครอบครัว ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว และทำงานบ้านด้วย รวมทั้งต้องดูแลสามีซึ่งป่วยอยู่ หรือลูกต้องหยุดเรียนเพื่อเฝ้าพ่อ
          แบบแผนที่ 9 เพศและการเจริญพันธุ์ เป็นแบบแผนที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการตามเพศ การเจริญพันธุ์และเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์มีผลกระทบต่อแบบแผนนี้ทั้งระยะที่ไม่มีอาการ และมีอาการ โดยในผู้ติดเชื้อที่ไม่ปรากฎอาการกลุ่มที่ต่อต้านสังคม จะมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น หรือสำส่อนทางเพศมากขึ้น เพราะต้องการแก้แค้นสังคมที่แสดงความรังเกียจ และโกรธผู้ที่แพร่เชื้อให้ตนเอง ในกลุ่มที่ยอมรับคำแนะนำ ก็ต้องมีพฤติกรรมการป้องกันในการมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้อง โดยต้องใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวี และป้องกันการรับเชื้ออื่น สำหรับในคู่สมรสมักพบว่ามีเพศสัมพันธ์ลดลง สำหรับผู้ป่วยเอดส์ และผู้ติดเชื้อที่ปรากฎอาการ มักมีเพศสัมพันธ์ลดลง เนื่องจากการเจ็บป่วยที่เรื้อรัง อ่อนล้า ภาวะเครียดจากโรค และปัญหาทางเศรษฐกิจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ จึงทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ลดลง โดยในคู่สมรสที่ทราบว่าติดเชื้อเอชไอวีทั้งสองฝ่ายจะคุมกำเนิด ส่วนในคู่สมรสที่มาตรวจพบเมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์ อาจตัดสินใจทำแท้ง ส่วนลูกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอดส์ อาจติดเชื้อเช่นกันทำให้ชีวิตสั้นลง
          แบบแผนที่ 10 การปรับตัวและความทนทานต่อความเครียด เป็นแบบแผนที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ต่อความเครียดและสาเหตุ วิธีการขจัดความเครียด และความสามารถในการปรับตัวเมื่อต้องเผชิญกับความเครียด โรคเอดส์ส่งผลกระทบต่อแบบแผนนี้สูงทั้งต่อผู้ป่วยเอง และครอบครัว กล่าวคือ โรคเอดส์ก่อให้เกิดความเครียดตั้งแต่เริ่มตรวจพบเชื้อไปจนตลอดชีวิต บางคนเมื่อทราบว่าตนติดเอดส์ ถึงกับเกิดอาการช็อคทันที ผู้ที่มารับการตรวจ และพบว่าตนมีเลือดบวกมักจะไม่มีอาการแสดง แต่ก็มีความกังวล ซึ่งมี 2 ประเภท คือ ประเภทที่มีความวิตกกังวลน้อย หรือไม่มีเลย และประเภทที่มีความวิตกกังวลมาก ประเภทแรกมักใช้กลไกการปรับตัวโดยการปฏิเสธ และยังคงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เช่น การมีเพศสัมพันธ์สำส่อน การฉีดยาเสพติด และแม้ว่าบุคคลกลุ่มนี้จะตระหนักถึงโรคนี้อยู่ ก็ไม่คิดว่าจะถูกคุกคามต่อชีวิต สำหรับผู้ที่มีความวิตกกังวลมาก ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่ไม่เคยมีประวัติพฤติกรรมเสียงต่อการติดเชื้อเอชไอวี เช่น ไม่เที่ยวสำส่อน ไม่ฉีดยาเสพติด อาจเพิ่งเที่ยวหญิงบริการเป็นครั้งแรก หรือ ติดจากการรับเลือด จึงมีความวิตกกังวลสูงเมื่อได้ทราบว่าตนติดเชื้อ กลัวการแพร่เชื้อสู่บุคคลที่รัก กลัวสังคมห่างเหินกลัวถูกปฏิเสธการแสดงความสนิทสนม บุคคลกลุ่มนี้จะมีอาการซึมเศร้า หมดหวังในชีวิต ย้ำคิดย้ำทำ และอาจมีอาการทางกายอันเนื่องมาจากสาเหตุทางจิตใจ (ในผู้ป่วยอีกกลุ่มที่มาโรงพยาบาลด้วยอาการติดเชื้อ โดยไม่คิดว่าเป็นผลจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันเสื่อม และเมื่อทราบผลการวินิจฉัยว่าตนเป็นโรคเอดส์จะเกิดความกลัว ความกังวลจากความเข้าใจว่าโรคนี้ไม่มีทางรักษาให้หาย อาจจะตายในไม่ช้า ความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต กลัวถูกต่อต้าน หรือถูกรังเกียจจากสังคม เนื่องจากคนทั่วไป เข้าใจว่าโรคนี้ติดมาจากการสำส่อนทางเพศ การติดยาเสพติด ความวิตกกังวลจะเปลี่ยนแปลงไปตาม ความรุนแรงของอาการ ผลการวินิจฉัยโรค การรักษา และผลการรักษา
          แบบแผนที่ 11 คุณค่าและความเชื่อ เป็นแบบแผนที่เกี่ยวข้องกับความเข้มแข็งทางจิตใจ สิ่งที่มีคุณค่าและความเชื่อที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวของบุคคล รวมทั้งความเชื่อมั่นสุขภาพ โรคเอดส์เป็นโรคที่เรื้อรัง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเบี่ยงเบนของความเข้มแข็งทางจิตใจ ทำให้เปลี่ยนความเชื่อ สิ่งยึดเหนี่ยวหรือสิ่งที่คิดว่ามีคุณค่าสำหรับคนได้ บางคนอาจรู้สึกว่าการที่ตนป่วยเป็นโรคเอดส์ เป็นการลงโทษจากพระเจ้า บางคนคิดว่าเป็นการใช้อำนาจทางไสยศาสตร์ของคนที่คิดร้ายต่อตน ทำให้ต้องล้มป่วยลง บางรายอาจเสื่อมนับถือในสิ่งที่เคยยึดเหนี่ยว และเชื่อถือ เนื่องจากคิดว่าสิ่งที่นับถือไม่ได้ช่วยเหลือตนให้พ้นจากความเจ็บป่วยเลย ทั้ง ๆ ที่ตนทำดีมาตลอด หรือบางรายที่ไม่เคยเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์โชคลาง ก็อาจเปลี่ยนมานับถือเพื่อหาสิ่งยึดเหนียว หรือหาที่พึ่ง เนื่องจากหมดหวังในภาวะเจ็บป่วยซึ่งไม่หาย และสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ตนตลอดมา จะเห็นว่าโรคเอดส์ ส่งผลกระทบต่อแบบแผนสุขภาพของบุคคล และครอบครัวเป็นอย่างมาก ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม
          ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวี จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง พฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม จะเป็นปัจจัยให้ติดเชื้อเอชไอวีได้ดังแสดงในแผนภูมิที่ 5 ฉะนั้นการใช้กรอบแนวคิดแบบแผนสุขภาพในการประเมินผู้ป่วย เพื่อให้ครอบคลุมทั้งทางกาย จิต และสังคม จะช่วยให้พยาบาลสามารถนำข้อมูลมาวางแผนการพยาบาล แก่ผู้ป่วยเป็นรายบุคคลได้อย่างครบถ้วน
          อุบัติการณ์ของโรคเอดส์ ปรากฎขึ้นอย่างรุนแรง และเฉียบพลัน จึงส่งผลกระทบต่อสังคม และประเทศชาติ ดังนี้
          1. ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ ส่วนใหญ่อยู่ใน ช่วงอายุ 20 - 59 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงาน เมื่อมาป่วยด้วยโรคเอดส์ทำให้ตกงาน เนื่องจากภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย อ่อนล้า ไม่มีแรงทำงาน และที่สำคัญยิ่ง คือ ถูกรังเกียจจากสังคมทั้งตนเอง และครอบครัว ทำให้ขาดรายได้ นอกจากนี้ ค่ารักษาที่ต้องใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ต้องเจ็บป่วยเรื้อรัง เข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมิใช่น้อยโดยเฉพาะเมื่อไม่มีรายได้ จึงไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้ รัฐต้องเข้ามารับผิดชอบ โดยการให้สังคมสงเคราะห์แก่ผู้ป่วย
          2. ผลกระทบด้านทรัพยากรบุคคล โรคเอดส์ทำให้สูญเสียทรัพยากรบุคคลของชาติ เนื่องจากวัยรุ่น และเด็กเป็นมากขึ้น ปัจจุบันนี้พบผู้ป่วยเอดส์ที่เป็นเด็กสูงถึงร้อยละ 6 ทำให้กำลังของชาติลดลง อนาคตของชาติมืดมน อีกทั้งในปัจจุบันนี้เอดส์มีการแพร่ระบาดเข้าสู่รอบครัวแบบครบวงจร ทำให้เกิดปัญหาเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้น เด็กที่เป็นกำลังสำคัญกลับต้องเป็นภาระกับครอบครัวและประเทศชาติ
          3. ผลกระทบต่อขวัญของประชาชน ประชาชนในชาติจะอยู่อย่างหวาดผวา เสียขวัญ เพราะกลัวผู้ป่วยที่เป็นเอดส์ บางคนไม่กล้าว่ายน้ำในสระ บางคนไม่กล้าเข้าห้องน้ำสาธารณะ พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยบางคนก็ถูกรังเกียจ บางคนไม่กล้าไปในที่แออัด เช่น ศูนย์การค้า เพราะกลัวคนเอาเข็มฉีดยาไล่แทง
          ดังนั้น การให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการป้องกันโรคเอดส์ จะช่วยให้ประชาชนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข จะเห็นได้ว่าโรคเอดส์ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งตัวของผู้รับเชื้อ และครอบครัว รวมไปถึงสังคมและประเทศชาติ ดังนั้นการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีพฤติกรรมการป้องกันโรคที่ถูกต้อง ไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ จึงมีความสำคัญยิ่ง รวมถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อป้องกันการติดเชื้อด้วย


     


วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ใช้ถุงยางอนามัย ไม่มีเพศสัมพันธ์กับใครอื่นนอกจาก สามี หรือภรรยา